วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2558

"การสอบแข่งขัน" กับ "การสอบคัดเลือก" ต่างกันอย่างไร



     หลายๆ ท่านที่เป็นนักสอบตัวยง หรือผู้ค้นหาอาชีพในฝันหน้าใหม่ๆ หลายๆ คน คงมีจำนวนไม่น้อยนะครับ ที่ต้องสะดุดตาและตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมบางหน่วยงานประกาศรับสมัครสอบแข่งขัน บางหน่วยงานประกาศสอบคัดเลือก หรือบางทีก็ประกาศทั้งสอบคัดเลือกและสอบแข่งขัน หรือบางตำแหน่งที่ประกาศรับสมัครเข้าทำงาน ไม่มีการสอบแข่งขันเลย มีเพียงการสอบคัดเลือกเพียงอย่างเดียว อะไรทำนองนี้ เป็นต้น  วันนี้ผมมีคำตอบมาสร้างความเข้าใจให้เข้าใจได้พอสมควร นอกจากการทำความเข้าใจกับการสอบแข่งขัน และการสอบคัดเลือกแล้ว ยังมีวลีต่างๆ ที่ใช้เป็นภาษาราชการที่มีปรากฏในเอกสารประกาศรับสมัครบุคคลเข้าทำงานของส่วนราชการอยู่บ่อยๆ เช่น การแต่งตั้ง การบรรจุ การโอน การย้าย การเลื่อน ฯลฯ ติดตามรายละเอียดด้านล่างเลยครับ



1.การสอบแข่งขัน หมายถึง การสรรหาบุคคลโดยใช้วิธีการสอบข้อเขียน (อัตนัยและปรนัย) การสอบภาคปฏิบัติ และการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งผู้สอบแข่งขันได้จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่ที่สอบแข่งขันได้

2.การคัดเลือก หมายถึง การสรรหาบุคคลโดยวิธีการคัดเลือก ซึ่งผู้ที่ได้รับการ
คัดเลือกจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามความเหมาะสม เพื่อเข้ารับราชการ โดยไม่ต้อง
สอบแข่งขัน เช่น

2.1 การคัดเลือกจากผู้ได้รับทุนรัฐบาล
2.2 การคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นคุณวุฒิขาดแคลน
2.3 การคัดเลือกกรณีอื่นๆ

3.การสรรหาบุคคล หมายถึง การเสาะแสวงหาบุคคลที่พร้อมและสามารถจะทำงานได้ เข้ามาสมัครเข้าทำงานตามที่ส่วนราชการกำหนด

4.การเลือกสรร หมายถึง การพิจารณาบุคคลที่ส่วนราชการได้เลือกสรรมาทั้งหมด และทำการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานและส่วนราชการมากที่สุด

5.การบรรจุ หมายถึง การรับบุคคลที่ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญด้วยวิธีการสอบแข่งขันหรือสอบคัดเลือก โดยเป็นการทำให้มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือน

6.การแต่งตั้ง หมายถึง การสั่งให้ข้าราชการมีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบงานในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง และมีสิทธิที่จะได้รับเงินเดือนตามตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งนั้น

7.การย้าย หมายถึง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งอื่นในกรมเดียวกัน ซึ่งจะเป็นตำแหน่งประเภทเดียวกันหรือต่างประเภทกันก็ได้

8.การโอน หมายถึง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงหนึ่งหรือกรมหนึ่ง ให้ดำรงตำแหน่งในกระทรวงหรือกรมอื่น ซึ่งจะเป็นตำแหน่งประเภทเดียวกันหรือต่างประเภทกันก็ได้

9.การเลื่อน หมายถึง การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้ดำรงตำแหน่งประเภทเดียวกันในระดับที่สูงกว่าเดิม

คงพอเข้าใจกันคร่าวๆ แล้วใช่ไหมครับว่า วลีแต่ละวลีที่เห็นกันในประกาศรับสมัครบุคคลของแต่ละส่วนราชการนั้น มีความหมายอยู่ในคำแตกต่างกัน ทั้งนี้ เห็นในหลายๆ หน่วยงานนำวลีบางวลีเหล่านี้ไปออกข้อสอบในภาคความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) ด้วยก็มี ดังนั้น เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับอาชีพราชการ อาชีพที่รับใช้แผ่นดินตลอดชีวิต ผู้ที่จะเป็นข้าราชการต้องรอบรู้ รอบคอบ และมีความใส่ใจ อนึ่ง หากท่านเป็นคนที่สนใจในอาชีพราชการ ขอให้ติดตามข่าวเปิดสอบงานราชการทางเว็บไซต์ของเรา ตามลิงก์ที่แนบมาพร้อมนี้  http://www.sorbratchakarn.com/ และกดถูกใจแฟนเพจศูนย์ข่าวเปิดสอบงานราชการเพื่อเป็นการให้กำลังใจผู้จัดทำ และรับข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วก่อนใคร ส่งตรงถึงโปรไฟล์ของท่านเลยครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น